แหวนนพเก้า ความหมาย ความเชื่อกว่า 100 ปี

Article-20201219-02

ความเชื่อเรื่อง แหวนนพเก้า มีประวัติยาวนานหลายร้อยปี นิยมสวมใส่ด้วยความเชื่อว่าจะช่วยเรียกทรัพย์ให้กับผู้สวมใส่ ให้มีความมั่งคั่งอุดมสมบูรณ์เสมอ

แหวนนพเก้า ตัวเรือนทองคำ ที่ผู้ใหญ่มักจะนิยมสวมใส่นั้นเป็น “แหวนพิรอดนพเก้า” แหวนตัวเรือนเป็นทองคำ ประดับด้วยอัญมณีมงคล 9 ชนิด ประกอบด้วย เพชร และพลอยสำคัญอีก 8 ชนิด ได้แก่ ทับทิม มรกต บุษราคัม ไพลิน (นิลกาฬ) โกเมน มุกดาหาร เพทาย และ ไพฑูรย์ (ตาแมว) โดยมีความเชื่อว่า นพเก้าจะนำมาซึ่งอำนาจพิเศษที่จะนำสิริมงคลมาสู่ตัวผู้สวมใส่

ความเชื่อเรื่องอัญมณี

จะเห็นได้ว่ามนุษย์เราไม่ว่าจะเป็นชนชาติใด หรือประเทศไหนทั่วโลก ทั้งประเทศในแถบตะวันตก ตะวันออก หรือแม้แต่ในอารยธรรมกรีก และอียิปต์โบราณ รวมถึงในประเทศไทยเราเอง ล้วนแล้วแต่มีความเชื่อในพลังของอัญมณีด้วยกันทั้งสิ้น

ในอดีตแต่ครั้งโบราณกาลมนุษย์เรานั้นรู้จักการนำอัญมณีมาใช้ประดับตกแต่งร่างกายเพื่อความสวยงาม ทั้งยังนิยมนำมาทำเป็นเครื่องรางของขลัง จากความเชื่อที่ว่าอัญมณีชนิดต่างๆ มีคุณสมบัติในทางมงคล สามารถปกป้องคุ้มครองภัยและนำพาความสุขสวัสดี มีโชคดีมาสู่ผู้สวมใส่

นพเก้า ที่สุดแห่งอัญมณีเสริมมงคล

สำหรับในประเทศไทยนั้นคาดว่าความเชื่อในพลังของอัญมณีได้รับอิทธิพลมาจากประเทศอินเดีย โดยอัญมณีซึ่งจัดว่าเป็นสิริมงคลสูงสุดในบรรดาอัญมณีทั้งปวงในตำราความเชื่อของไทยนั้นมีอยู่ด้วยกัน 9 ชนิด ซึ่งรู้จักกันในนามของ ‘นพเก้า’ หรือ ‘นพรัตน์’ โดยเชื่อถือว่าอัญมณีแต่ละชนิดเป็นสัญลักษณ์แทนดาวนพเคราะห์ทั้ง 9 ดวงในระบบสุริยะ ซึ่งมีเทพดูแล มีคุณ สมบัติในทางสิริมงคล ป้องกันภยันตรายต่างๆ หากผู้ใดมีไว้ในครอบครองก็เท่ากับมีมงคลไว้ติดตัวจะเจริญรุ่งเรือง (สมัยก่อนนับดาวพลูโตเป็นสมาชิกระบบสุริยะ)

โดยมีความหมายอันเป็นมงคล ดังนี้

1. เพชร คือ เป็นผู้ที่ยิ่งใหญ่ มีชัยแก่ศัตรู ร่ำรวย
2.ทับทิม คือ ความสำเร็จ ลาภยศ อายุยืน
3.มรกต คือ ความศรัทธา กล้าหาญ ป้องกันภัยอันตรายทั้งปวง
4.บุษราคัม คือ มีเสน่ห์เป็นที่รัก
5.โกเมน คือ สุขภาพดี อายุยืนนาน
6.ไพลิน คือ ความรัก ความเมตตากรุณา ความร่ำรวย
7.อเมทิส คือ จิตใจสงบ เข้มแข็ง คุ้มครองเวลาเดินทาง
8.เพทาย คือ ความร่ำรวย ชนะคดีความ
9.เขียวส่อง คือ ปัญญา ความซื่อสัตย์ ความสมบูรณ์และมั่นคงมาสู่ชีวิต
 


นอกจากนี้คำว่า “นพรัตน์” นั้นยังเป็นส่วนหนึ่งของชื่อกรุงเทพมหานคร เมืองหลวงของไทยในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ ซึ่งพระราชทานนามโดยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช (รัชกาลที่ 1) โดยทรงเปรียบให้กรุงเทพเป็นดั่งเมืองสวรรค์ เป็นเมืองหลวงที่บริบูรณ์ไปด้วยแก้วเก้าประการ

กรุงเทพมหานคร มีชื่อเต็มว่า กรุงเทพมหานคร อมรรัตนโกสินทร์ มหินทรายุธยา มหาดิลกภพ นพรัตนราชธานีบุรีรมย์ อุดมราชนิเวศน์มหาสถาน อมรพิมานอวตารสถิต สักกะทัตติยวิษณุกรรมประสิทธิ์

จากหลักฐานตามความเชื่อเรื่องนพเก้า หรือ นพรัตน์ ที่เชื่อว่านพเก้านั้นเป็นของสูง ในสมัยอยุธยาอัญมณีทั้ง 9 นี้มีไว้เฉพาะสำหรับพระมหากษัตริย์ และพระบรมวงศานุวงศ์เท่านั้น จึงได้มีการนำนพเก้ามาทำเครื่องประดับสำหรับประดับยศตำแหน่งของกษัตริย์และขุนนางชั้นสูง เช่น สังวาลนพรัตน์ แหวนนพรัตน์

ต่อมาในรัชสมัยของสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 4) ได้กำหนดให้นำนพเก้ามาประดับตกแต่งบนเรือนแหวนเรียกว่า แหวนนพเก้า สำหรับพระราชทานให้แก่พระราชวงศ์ รวมถึงเพื่อปูนบำเหน็จให้แก่ขุนนาง ข้าราชการ และบุคคลที่ทำคุณประโยชน์ให้แก่แผ่นดิน ในพระราชนิพนธ์พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้กำหนดเรื่องแหวนนพรัตน์ ในจดหมายกำหนดว่าด้วยเครื่องประดับสำหรับยศในสยามให้มีการสร้างแหวนทองคำประดับด้วย พลอยทั้ง 9 ชนิด ไว้สำหรับพระราชทานให้แก่ พระบรมวงศานุวงศ์และขุนนางผู้ใหญ่

ในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ทรงโปรดเกล้าฯ ให้สร้างดวงตรามหานพรัตน์สำหรับห้อยสายสะพายขึ้นเป็นครั้งแรกของเครื่องราชอิสริยาภรณ์ไทย รวมทั้งให้สร้างแหวนนพรัตน์เพิ่มเป็นเครื่องราชอิสริยาภรณ์นพรัตนราช วราภรณ์ สำหรับพระราชทานให้แก่พระบรมวงศานุวงศ์และขุนนางชั้นผู้ใหญ่

“แหวนนพเก้า” หรือ แหวนนพรัตน์ จึงถือเป็นแหวนสูงค่าที่รู้จักกันดีมานานนับร้อยปี ตามความเชื่อที่ว่า อัญมณีแต่ละชนิดมีคุณสมบัติในทางมงคล ป้องกันภัยอันตรายต่างๆ และขจัดความไม่เป็นมงคลทั้งหลายให้สิ้นไปได้ หากผู้ใดมีไว้ในครอบครอง ก็เท่ากับมีมงคลไว้ติดตัว ทำสิ่งใดย่อมมี ความสำเร็จ ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงการรวบรวมความงดงาม ความเชื่อ และความศรัทธา เกี่ยวกับนพรัตน์เข้าไว้ด้วยกัน ด้วยเหตุนี้แหวนนพเก้าจึงมีทั้งความงามและคุณค่าในตัวเอง โดยแทบไม่ต้องปรุงแต่ง

ปัจจุบันเครื่องประดับตกแต่งด้วยนพเก้าโดยเฉพาะแหวนนพเก้า เป็นที่แพร่หลายในหมู่ประชาชนทั่วไปทั้งชายและหญิง โดยเชื่อกันผู้ที่มีนพเก้าไว้ในครอบครองก็เท่ากับมีมงคลติดตัวด้วยเหตุที่ว่าอัญมณีทั้ง 9 ชนิดนี้ มีคุณสมบัติในทางมงคลที่แตกต่างกัน

แหวนนพเก้า ที่สุดแห่งโชคชะตา

แม้ว่ามณีนพเก้าจะนำพาความเป็นสิริมงคลมาสู่ผู้ครอบครอง แต่การจะหวังพึ่งพาพลังของอัญมณีแต่เพียงอย่างเดียวก็ดูไม่สมเหตุสมผลเท่าใดนัก เนื่องจากสิ่งต่างๆ ทั้งหลายทั้งปวงล้วนเป็นผลมาจากกรรม หรือการกระทำของแต่ละบุคคลด้วยกันทั้งสิ้น มนุษย์เรานั้นหากประพฤติดี ก่อกรรมดี ก็ย่อมส่งผลดีอันจะนำมาซึ่งความสุขกายสบายใจ แต่หากก่อกรรมชั่วแล้วไซร้ ก็ย่อมส่งผลลัพธ์ในทิศทางที่กลับกัน ดั่งคำพระท่านว่า “ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว” นี่คือสัจธรรม

 




 
ขอบคุณข้อมูลจาก Abovediamond

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้