กะรัตเพชร คำนวณอย่างไร? 1 กะรัตหนักเท่าไหร่? คุณรู้แล้วหรือไม่

Article-20201219-05

กะรัตเพชร คำนวณอย่างไร​? 1 กะรัตหนักเท่าไหร่? คุณรู้แล้วหรือ

คุณคงเคยได้ยิน ว่าเวลาเราชั่งน้ำหนักเพชรจะใช้หน่วยแทนด้วยกะรัตเพชรและสตางค์ (ตัง) อยู่บ่อยๆ

กะรัตเพชร (Carat) ถือเป็นหนึ่งในปัจจัย 4C ที่บ่งบอกมูลค่าของเพชรได้เป็นอย่างดี เพราะยิ่งเพชรมีน้ำหนักzกะรัตมากเท่าไร แน่นอนว่ามูลค่าก็จะสูงมากเท่านั้น แต่คุณทราบหรือไม่ ว่าโดยปกติร้านเพชรนั้นทำการวัดกะรัตกันอย่างไร? และคำว่ากะรัต แท้จริงแล้วหมายถึงอะไรกันแน่? ในวันนี้เรามีคำตอบมาแบ่งปันให้คุณ

 “กะรัตเพชร” คืออะไร?

กะรัตเพชรเป็นหน่วยของน้ำหนักที่ใช้กับการชั่งเพชร โดย 1 กะรัต นั้น มีน้ำหนักเท่ากับ 200 มิลลิกรัมหรือ 0.2 กรัม แต่คุณต้องแยกให้ออกด้วยว่า “กะรัตเพชร” ไม่ได้สื่อถึงขนาดของเพชร หรือความหนาแน่นของเพชรแต่อย่างใด แต่สื่อถึงน้ำหนักเพชรที่ชั่งได้เป็นหลัก

ที่กล่าวเช่นนี้ก็เพราะว่า เพชรพลอยแต่ละชนิดมีความหนาแน่นที่แตกต่างกันไป ทำให้เพชร 1 กะรัต อาจไม่ได้มีขนาดใหญ่กว่าพลอยประเภทอื่นๆที่หนัก 1 กะรัตเท่ากันครับ

หน่วยกะรัต vs. หน่วยสตางค์ (ตัง)
เวลาเราไปซื้อเพชรที่ร้านเพชร พนักงานมักแจ้งหน่วยน้ำหนักโดยใช้ทั้งหน่วยกะรัตและหน่วยสตางค์ร่วมกัน คุณรู้ไหมครับว่า หน่วยกะรัตและสตางค์นั้นเป็นหน่วยที่แตกต่างกันอย่างไร?

วิธีแยกความแตกต่างก็ง่ายมาก อย่างที่กล่าวไปว่า เพชร 1 กะรัตจะมีน้ำหนักเท่ากับ 200 มิลลิกรัมหรือ 0.2 กรัม ในขณะที่หน่วยสตางค์นั้นก็เช่นเดียวกับเงินบาท จะมีน้ำหนักเท่ากับหนึ่งในร้อยส่วนของกะรัต หากตีเป็นหน่วยมิลลิกรัมก็จะมีน้ำหนักสตางค์ละ 2 มิลลิกรัมเท่านั้น

ฉะนั้นเวลาชั่งน้ำหนักเพชร พนักงานก็จะทำการชั่งเพชรเป็นหน่วยมิลลิกรัม แล้วคำนวณออกมาเป็นหน่วยกะรัตและสตางค์ครับ

วิธีคำนวณกะรัตเพชร
ถ้าหากอยากลองคำนวณกะรัตเพชร ก็ต้องใช้วิธีคิดเลขกันหน่อยครับ วิธีง่ายๆที่นิยมปฏิบัติกันก็คือ การนำเพชรมาชั่งน้ำหนักเป็นหน่วยกรัม แล้วหารตัวเลขที่ชั่งได้ด้วย 0.2 ก็จะได้ค่าเป็นหน่วยกะรัต

ตัวอย่างเช่น ถ้าชั่งน้ำหนักออกมาแล้วเพชรหนัก 0.1 กรัมหรือเท่ากับ 100 มิลลิกรัม เมื่อนำเอาเลขมาหารด้วย 0.2 ก็จะได้ค่าเท่ากับ 0.5 ซึ่งค่านี้หมายความว่าเพชรเม็ดนั้นหนักครึ่งกะรัตนั่นเอง

การประเมินกะรัตเพชรด้วยการวัด
หรือถ้าหากคุณไม่ได้มีเครื่องชั่งที่แม่นยำเป็นหน่วยกรัมอยู่กับตัว ทำให้ไม่สามารถคำนวณกะรัตได้ด้วยตัวเอง เรายังมีอีกวิธีทางเลือกหนึ่งเอามาให้ลองกัน ก็คือการกะเกณฑ์น้ำหนักกะรัต ด้วยการวัดไซส์และเส้นผ่าศูนย์กลางของเพชร ซึ่งจะแบ่งตามรูปทรงเพชร ทั้งเพชรทรงกลมและเพชรทรงเหลี่ยม

การประเมินกะรัตของเพชรทรงกลม

ถ้าหากเป็นเพชรทรงกลม สามารถใช้สูตรคำนวณ
กะรัตเพชร = เส้นผ่าศูนย์กลาง (มม.) x เส้นผ่าศูนย์กลาง (มม.) x ความลึก (มม.) x 0.006

โดยมีคำอธิบาย ค่าแต่ละค่าดังนี้
เส้นผ่าศูนย์กลางของเพชรทรงกลม วัดได้เป็นเส้นตรงที่พาดผ่านจุดกึ่งกลางของเพชร จากจุดรอบนอกจุดหนึ่งไปยังอีกจุดหนึ่ง โดยใช้หน่วยเป็นมิลลิเมตร ความลึก (หรือความสูงทั้งหมด) ก็คือระยะทางแนวตั้งจากพื้นผิวส่วนบนของเพชร ไปจนถึงจุดล่างสุดของเพชร

ตัวอย่างเช่น ถ้าหากเพชรของคุณเป็นทรงกลม มีเส้นผ่าศูนย์กลางยาว 4 mm และเพชรลึก 2 mm จะได้การคำนวณดังนี้

กะรัตเพชร = เส้นผ่าศูนย์กลาง (มม.) x เส้นผ่าศูนย์กลาง (มม.) x ความลึก (มม.) x 0.006
0.2 กะรัต = 4 x 4 x 2 x 0.006

การประเมินกะรัตของเพชรแฟนซี ทรงเหลี่ยม
 
เพชรสี่เหลี่ยมจัตุรัสหรือเพชรทรงสี่เหลี่ยมผืนผ้า Emerald, Asscher, หรือ Princess ใช้สูตรดังนี้

กะรัตเพชร = ความยาว x ความกว้าง x ความลึก x ค่าสัมประสิทธิ์

โดยมีคำอธิบายค่าแต่ละค่าดังนี้
ความยาวและความกว้าง ให้วัดจากขอบเพชรด้านนอก ความลึก ให้วัดวิธีเดียวกันกับวิธีวัดความลึกเพชรทรงกลม นั่นก็คือระยะห่างจากพื้นผิวบนสุดของเพชรไปยังจุดล่างสุดของเพชร

ค่าสัมประสิทธิ์ จะขึ้นอยู่กับสัดส่วนระหว่างความยาวต่อความกว้างของเพชร ค่าคร่าวๆจะเป็นดังข้างล่างนี้

ความยาว/ความกว้าง 1.25 ฉะนั้น ค่าสัมประสิทธิ์จะเท่ากับ 0.0080
ความยาว/ความกว้าง 1.50 ฉะนั้น ค่าสัมประสิทธิ์จะเท่ากับ 0.0090
ความยาว/ความกว้าง 2.00 ฉะนั้น ค่าสัมประสิทธิ์จะเท่ากับ 0.0100
ความยาว/ความกว้าง 2.50 ฉะนั้น ค่าสัมประสิทธิ์จะเท่ากับ 0.0105

ซึ่งถ้าหากสัดส่วนความยาวต่อความกว้างของเพชรคุณ ไม่ได้เท่ากับตัวเลขด้านบนนี้เป๊ะๆ ก็ให้ใช้ตัวเลขที่ใกล้เคียงที่สุด

ตัวอย่างเช่น ถ้าหากเพชรของคุณเป็นรูปทรงเหลี่ยม มีความลึกเท่ากับ 2.5 mm ยาว 5 mm และกว้าง 3.5 mm ดังนั้น สัดส่วนความยาวต่อความกว้างจะเท่ากับ: 5/3.5 = 1.43

ซึ่งตัวเลขที่ใกล้เคียงที่สุดก็คือสัดส่วน 1.50 ทำให้คุณสามารถใช้ค่าสัมประสิทธิ์
= 0.0090

เสร็จแล้วก็มาคำนวณกะรัตกันต่อ จะได้การคำนวณดังนี้
กะรัตเพชร = ความยาว x ความกว้าง x ความลึก x ค่าสัมประสิทธิ์
5 x 3.5 x 2.5 x 0.0090 = 0.394 กะรัต หรือหนักประมาณ 39 สตางค์นั่นเอง

อย่างไรก็ดี ให้จำไว้ว่าวิธีนี้เหมาะสำหรับเวลาที่คุณอยากประเมินน้ำหนักเพชรโดยคร่าวๆเท่านั้นนะครับ ถ้าหากอยากรู้กะรัตที่แน่นอน ควรใช้เครื่องชั่งดีกว่า

ขั้นตอนการชั่งน้ำหนักเพชร
หากคุณไปที่ร้านเพชรและต้องการชั่งน้ำหนักเพชร โดยปกติจะมีขั้นตอนดังนี้

1. นำเพชรวางบนเครื่องชั่ง
โดยใช้เครื่องชั่งแบบ sensitive ที่สามารถวัดได้ถึงหน่วยมิลลิกรัม หากเพชรของคุณอยู่บนแหวนเพชรแล้ว ก็จำเป็นต้องให้ช่างถอดออกมาเพื่อวัดกะรัต

2. ชั่งน้ำหนักเพชรเป็นหน่วยกรัมหรือมิลลิกรัม
โดยใช้เครื่องชั่งที่สามารถวัดได้ทั้งหน่วยกรัมและมิลลิกรัม ซึ่งถ้าเป็นหน่วยกรัม ก็ขอให้บอกจุดทศนิยม ที่แม่นยำ แล้วจดตัวเลขลงกระดาษ

3. คำนวณกะรัต
ถ้าชั่งน้ำหนักเพชรได้หน่วยเป็นมิลลิกรัม ก็ให้นำมาหารด้วย 200 แต่ถ้าได้หน่วยเป็นกรัมก็ให้หารด้วยค่า 0.2

4. คำนวณสตางค์
เสร็จแล้วก็นำเศษเลขทศนิยมที่ได้จากค่ากะรัต มาคูณด้วย 100 ก็จะได้เป็นจำนวนสตางค์ออกมา

5. เรียกหน่วยกะรัตและสตางค์ให้ถูก
ตัวอย่างเช่นถ้าเพชรของคุณหนัก 1.35 กะรัต ก็จะเรียกว่าหนัก 1 กะรัต 35 สตางค์

สรุป
เพียงเท่านี้ คุณก็สามารถเดินเข้าร้านเพชรได้อย่างมั่นใจ ว่าเรารู้ทันกระบวนการชั่งน้ำหนักเพชรในทุกขั้นตอน ทำให้ได้เพชรที่มีคุณภาพ ได้รับเพชรที่สมราคาในกะรัตที่เราต้องการ และถ้าหากคุณกำลังมองหาเพชรน้ำดี มีคุณภาพ ด้วยราคาคุ้มค่า คุณก็สามารถเข้ามาปรึกษา PW Gems & Diamond ดูนะคะ

 
 
ขอขอบคุณข้อมูลจาก : https://abovediamond.com

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้